ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อที่ ๒๕ หมวด ๗ ซึ่งกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและพิธีสารที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. ๑๙๘๘ (อนุสัญญาเวียนนา) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ค.ศ.๑๙๙๙ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ค.ศ. ๒๐๐๐ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council Resolutions (UNSCRs)) เกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เช่น UNSCR ๑๒๖๗ (๑๙๙๙) และ UNSCR ๑๓๗๓ (๒๐๐๑) อีกทั้ง UNSCR ๑๖๑๗ (๒๐๐๕) ได้เรียกร้องรัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ของ FATF อีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering (APG)) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ทำให้มีพันธกรณี ที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism (AML/CFT)) ตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force (FATF)) โดยประเทศไทยเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT มาแล้วทั้งสิ้น จำนวน ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และครั้งที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยผลการประเมินพบว่า ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดเก็บข้อมูลสถิติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ประกอบกับ สำนักงาน ปปง. ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบรายงานผลการประเมินฯ และนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ดำเนินการ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ผลการประเมินสูงขึ้นโดยเร็ว ประเด็นสำคัญ คือ ผลงานอย่างเป็นรูปธรรม/คดี/ผลการดำเนินคดี ทั้งพลเรือน/ตำรวจ/ทหาร/ธุรกิจเอกชน ฯลฯ โดยที่ การจัดเก็บข้อมูลสถิติด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism and Proliferation Financing (AML/CFT/CPF)) ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานภายนอกสามารถจัดเก็บข้อมูลสถิติที่จำเป็นเพื่อแสดงถึงประสิทธิผลของการดำเนินงานด้าน AML/CFT /CPF ของประเทศไทยที่เห็นเป็นรูปธรรม และใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖